ทำความรู้จักกับ “เบียร์” หลากสไตล์ และ “แก้วเบียร์” หลายประเภท

หากจะมองหาแก้วสักใบมาใส่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีทองอำพันอย่าง
“เบียร์” ไว้ดื่มเองแก้เหงายามเหนื่อยล้า หรือจะไว้ชวนเพื่อนมาดื่มพูดคุยกันที่บ้าน แต่พอออกไปเดินดูตามร้านค้าก็พบว่ามีแก้วเบียร์ให้เลือกหลากหลายแบบ หลากหลายรูปทรง ละลานตาจนเลือกไม่ถูกว่าจะหยิบแก้วทรงไหนดี หลายคนอาจจะเลือกจากรูปร่างที่สวยดูแปลกตา อาจหยิบมาจากความชอบส่วนตัวรู้สึกว่าแก้วทรงนี้โดนใจ เพราะคิดว่าดื่มจากแก้วแบบไหนก็คงให้รสชาติไม่ต่างกัน แต่จริงๆ แล้ว แก้วเบียร์แต่ละทรงนั้นมีความแตกต่างกัน และส่งผลกับรสชาติของเบียร์มากกว่าที่คิด แต่ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับแก้วเบียร์แต่ละประเภท เราควรรู้จักและทำความเข้าใจกับประเภทของเบียร์กันก่อน

 

โลกของเบียร์ กว้างใหญ่กว่าที่เห็น

หนึ่งในประเภทของเบียร์ที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ เบียร์ลาเกอร์ เนื่องจากเป็นเบียร์ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาด (Commercial Beer) นิยมผลิตออกมาขายทำให้เข้าถึงและหาซื้อมาลิ้มลองได้ง่าย แต่จริงๆ แล้ว เบียร์ลาเกอร์นั้นไม่ได้มีแค่เบียร์สีทองอ่อนใส รสชาติเหมือนในท้องตลาดที่เราคิดว่ารู้จักดีเท่านั้น แต่ยังแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกหลากหลายรูปแบบทั้งสีสันและรสชาติ แล้วแต่ฝีมือการปรุงของนักปรุงเบียร์ แล้วเราจะแยกได้อย่างไรว่าเบียร์แบบไหนคือเบียร์อะไรบ้าง

 

ที่จริงแล้ว เราสามารถแยกประเภทของเบียร์ได้จากประเภทของยีสต์ที่ใช้ในการหมัก โดยดูจากการทำงานของยีสต์แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ยีสต์ประเภทหมักลอยผิว (Top-Fermenting Yeast) และยีสต์ประเภทหมักนอนก้น (Bottom-Fermenting Yeast) ทำให้ได้เบียร์ 2 ประเภทคือเอล (Ale) และลาเกอร์ (Lager) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการหมักแบบพิเศษจากยีสต์ที่มีอยู่ในธรรมชาติซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมของประเทศเบลเยียม ทำให้ได้เบียร์รสชาติเปรี้ยวเรียกว่า เบียร์ลัมบิค (Lambic Beer)

 

เบียร์เอล (Ale) เบียร์ที่ผ่านกระบวนการหมักแบบลอยผิว คือการที่ยีสต์จะลอยอยู่บนผิวของเบียร์เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมัก ชอบอุณหภูมิต่ำ โดยใช้อุณหภูมิในการหมักประมาณ 10 - 15 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการหมักเพียง 2 – 3 สัปดาห์ ทำให้เบียร์ที่ได้มักมีสีเข้ม มีบอดี้ที่หนักและขุ่นกว่าลาเกอร์ ทั้งยังมีรสชาติที่หลากหลาย โดยประเภทคร่าวๆ ของเบียร์เอลแบ่งออกได้เป็น

 

  • เพลเอล (Pale Ale) หรือเอลสีอ่อน โดดเด่นด้วยสีสว่างสะดุดตา เป็นเอลที่มีความสมดุลของรสชาติ ความขม และกลิ่น สามารถจับคู่กับอาหารได้หลากหลาย ปัจจุบันมีการพัฒนาสูตรแยกย่อยออกไปอีกหลากหลายประเภท ทั้ง English-Style Pale Ale ที่มีกลิ่นไปทางเอิร์ธโทน American-Style Pale ที่มีกลิ่นฮ็อปส์รุนแรงและหนักกลิ่นซิตรัส หรือ Belgian-Style Pale Ale ที่มีรสออกหวานและใช้ฮ็อปส์น้อยกว่าประเภทอื่น หนึ่งในประเภทของเพลเอลที่เป็นที่นิยมและคนไทยรู้จักกันดีได้แก่ Indian Pale Ale (IPA) ที่ให้รสขมติดปลายลิ้น ความนิยมในการดื่มของ IPA นั้นมีมากขนาดที่บริษัทแก้วชื่อดังร่วมมือกับโรงเบียร์เพื่อออกแบบแก้วเบียร์สไตล์ IPA โดยเฉพาะออกมาเลยทีเดียว

 

  • ไวเซ่น (Weizen/Wheat Beer) เบียร์ข้าวสาลีของเยอรมนี มีกลิ่นหอมผลไม้ที่เกิดจากมอลต์และข้าวสาลี รสชาติกลมกล่อม ฟองหนานุ่ม สามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็นอีก 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่ Hefeweizen Dunkelweizen Kristallweizen และ Weizenbock เบียร์ชนิดนี้นิยมดื่มในแก้วทรงสูง ปากกว้าง มีความอ้วนที่ปากแก้ว
  • บราวน์เอล (Brown Ale) เบียร์เอลสีน้ำตาลเข้ม เป็นเอลที่เน้นมอลต์มากกว่าฮ็อปส์ มีกลิ่นของมอลต์คั่ว โดดเด่นที่มีรสชาติและกลิ่นถั่ว ผสมอยู่นิดๆ หวานหน่อยๆ บางเจ้าอาจมีรสชาติของคาราเมลหรือช็อกโกแลต ทำให้ดื่มง่าย และเนื้อสัมผัสที่หวานมัน
  • พอร์เตอร์และสเตาท์ (Porter & Stout) เบียร์ดำที่มีจุดเด่น คือ กลิ่นคั่วหอมไหม้ของมอลต์ที่ใช้ในการหมัก โดยนำมอลต์หรือบาร์เลต์มาคั่วก่อนจะนำไปหมัก แล้วผสมตามด้วยฮ็อปส์เพียงเล็กน้อยจึงให้รสชาติที่ค่อนข้างหวาน และให้กลิ่นคล้ายกาแฟหรือช็อกโกแลต

 

เบียร์ลาเกอร์ (Lager) เบียร์ที่ผ่านกระบวนการหมักแบบนอนก้น คือ ยีสต์จะลอยอยู่บนผิวของเบียร์เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมัก ชอบอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเอล โดยใช้อุณหภูมิในการหมักประมาณ 5 - 15 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการหมักนานหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ทำให้เบียร์ที่ได้มักมีสีทองใส มีบอดี้บางเบาและมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูง ทั้งยังมีแคลอรีต่ำ ดื่มง่าย ให้ความสดชื่นยามดื่ม จึงเหมาะจะดื่มเป็นแบบเย็น มีแยกย่อยออกไปได้อีกหลายสไตล์ตามถิ่นกำเนิดหรือกระบวนการผลิต โดยสามารถจำแนกคร่าวๆ ได้จากสีและปริมาณแอลกอฮอล์

  • เพลลาเกอร์ (Pale Lager) ลาเกอร์ที่มีสีอ่อนไปจนถึงสีเหลืองทอง เป็นที่นิยมไปทั่วโลก เนื่องจากมีความสดชื่น บอดี้ค่อนข้างเบา หนึ่งในตระกูลเพลลาเกอร์ที่คนรู้จักกันดีและมีการผลิตมากที่สุดในโลก ได้แก่ พิลส์เนอร์ (Pilsner) เบียร์สีบรอนซ์ทอง รสชาติเบาๆ ไม่เข้มข้น ให้ความสดชื่นและกลิ่นหอมจากฮ็อปส์และมอลต์
  • ดาร์กลาเกอร์ (Dark Lager) หรือภาษาเยอรมันเรียกว่า “Dunkel” ลาเกอร์สีเข้ม มีสีน้ำตาลออกไปจนถึงดำ ให้รสชาติมอลต์คั่วที่ชัดเจน ถึงแม้จะมีสีเข้มแต่รสชาติไม่ได้เข้มหรือขม แต่ยังคงเอกลักษณ์ของลาเกอร์ที่มีความซ่าและบอดี้ที่เบา หนึ่งในดาร์กลาเกอร์ที่รู้จักกันดีคือ บ็อคเบียร์ (Bock)

พอรู้จักเบียร์ชนิดต่างๆ กันไปแล้ว บอกเลยว่าสไตล์ของเบียร์ที่ได้ยกตัวอย่างให้รู้จักกันข้างต้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของจักรวาลเบียร์อันกว้างใหญ่เท่านั้น ยังมีเบียร์อีกมากมาย หลากหลายสไตล์ให้คุณได้ค้นหา มีรสชาติที่น่ามหัศจรรย์อีกมากให้ได้ลิ้มลอง แล้วแบบไหนจะเหมาะกับเบียร์แบบไหนกันบ้าง งั้นเราไปทำความรู้จักกับแก้วเบียร์กัน

 

ประเภทของแก้วเบียร์ มีอะไรบ้างนะ?

 

แก้วมัค (Mug) แก้วยอดนิยม ใช้งานง่าย หยิบจับสะดวก เหมาะกับเบียร์หลากหลายประเภท โดยเฉพาะเบียร์ตระกูลลาเกอร์ที่จะมีรสชาติดีขึ้นเมื่อดื่มในขณะที่เย็น นิยมนำแก้วไปแช่เย็นไว้ก่อนจะนำมาใส่เบียร์ ความหนาของตัวแก้วจะช่วยเก็บความเย็นของเบียร์ให้คงอยู่ได้นานขึ้น ทั้งยังมีหูจับทำให้อุณหภูมิอุ่นๆ จากมือเราไม่ไปสัมผัสแก้วโดยตรง จึงช่วยให้เบียร์คงรสชาติและความเย็นได้นาน

 

แก้วพิวส์เนอร์ (Pilsner) ชื่อแก้วก็บอกอยู่แล้วว่าผลิตมาเพื่อใช้ดื่มกับเบียร์พิวส์เนอร์โดยเฉพาะ เป็นแก้วทรงสูงเพรียว โปร่งบาง ด้านข้างตรง เน้นที่ความสูงของแก้ว เพื่อให้ฟองอากาศในเบียร์เดินทางได้เต็มที่ เหมาะสำหรับเบียร์เนื้อเบาอย่างลาเกอร์

 

แก้วไวเซ่น (Weizen) เป็นแก้วทรงสูงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับแก้วพิวส์เนอร์ แต่มีความอ้วนที่ปากแก้ว ด้านข้างแก้วจะมีความโค้งมน ปากแก้วที่กว้างและโค้งมนจะช่วยให้เกิดฟองหนานุ่ม เหมาะกับพวก Wheat Beer ที่มีกลิ่นหอม

 

แก้วก็อบเล็ทหรือชาลิส (Goblet/Chalice) ตัวแก้วเป็นกระเปาะ มีลักษณะใหญ่เหมือนชาม เป็นแก้วที่โชว์สีสันของเบียร์ที่สวยงาม และมีการออกแบบให้ได้ฟองเบียร์ที่หนาพอดี เหมาะกับเบียร์ที่มีบอดี้ค่อนข้างหนักอย่างบ็อค ไปจนถึงเบียร์เอลอย่าง IPA และสเตาท์

 

แก้วสเตาท์ (Stout) แก้วที่ออกแบบมาเพื่อการดื่มพอร์เตอร์และสเตาท์ รูปร่างคล้ายกับแก้ว IPA เป็นอย่างมาก คือมีส่วนก้นแก้วตรงที่จับแคบ ต่างกันที่แก้วสเตาท์ตรงที่จับจะเรียบ ส่วนของ IPA จะเป็นคลื่น

 

แก้วสนิฟเฟอร์ (Sniffer) หรือแก้วทรงบอลลูน ตัวแก้วเป็นกระเปาะขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับเบียร์เอลที่มีความเข้มและรสชาติหลากหลายหรือเบียร์ที่ต้องการการแกว่งเบียร์เพื่อให้ได้อโรม่าจากตัวเบียร์ที่ชัดเจน เหมาะกับเบียร์บอดี้หนัก ๆ อย่าง Double IPAs

 

นอกจากแก้วที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว หากใครยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบทานเบียร์แบบไหนกันแน่หรือยังตัดสินใจเลือกแก้วที่ถูกใจที่สุดไม่ได้ ก็เริ่มจากแก้วธรรมดาสามัญสำหรับการดื่มเบียร์ อย่างแก้วไพน์ (Pint Glass) ก่อนก็ไม่เสียหาย โดยเป็นแก้วที่ใช้ได้กับเบียร์ทุกประเภทแต่อาจจะดึงเอากลิ่นและรสชาติบางอย่างออกมาได้ไม่ดีเท่าแก้วชนิดอื่น แต่ก็นับว่าเป็นแก้วที่ใช้ได้ทุกโอกาส สะดวกและเก็บรักษาง่าย หรือยกระดับรสชาติการชิมเบียร์ขึ้นมาอีกนิดเป็นแก้วเทกุ (Teku) ที่ผสมผสานประโยชน์ใช้สอยของแก้วทรงกระเปาะที่ขับเน้นเรื่องสีและการกักเก็บกลิ่นของเบียร์ ผนวกกับรูปแบบร่วมสมัยพร้อมก้านจับที่ยาวขึ้นให้คงอุณหภูมิของเครื่องดื่มได้นานขึ้น ทั้งยังได้รับการยอมรับว่าเป็นแก้วทางการของอิตาลีในการชิมคราฟต์เบียร์อีกด้วย

 

เห็นได้ว่าแก้วเบียร์นั้นมีความหลากหลายและมีให้เลือกมากมายหลายแบบ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป การเลือกซื้อแก้วเบียร์หรือชุดแก้วเบียร์สักชุด นอกจากความเหมาะสมคุณภาพของแก้วเองก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทางโอเชียนกลาสได้คัดแก้วเบียร์คุณภาพมาให้ได้เลือกสรร ให้ตรงใจและตรงกับประเภทการใช้งานที่ลูกค้าต้องการ 

 

Oceantableware เป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องแก้วในภูมิภาคเอเชีย ด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องแก้วที่มีคุณภาพระดับเวิลด์คลาส เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง รวมถึงบริษัทและองค์กรต่างๆ จากความชำนาญด้านการผลิตและการออกแบบที่เป็นเลิศกว่า 38 ปี เรามุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสบการณ์การกินดื่มสู่ความทันสมัยอย่างมีสไตล์ ตอบโจทย์ทุกช่วงเวลาของความสุข ช่วยสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำ โอเชียนกลาสจึงเป็นผู้ผลิตเครื่องแก้วชั้นนำของเอเชียและส่งออกไปมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

สอบถามเกี่ยวกับแก้วเครื่องดื่มทุกรูปแบบให้กับบ้าน ธุรกิจ และองค์กรของคุณได้ที่ www.oceantableware.com